คำนำ เรื่องคำอุปมาในพระคัมภีร์
คำนำ คำอุปมา
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คุณเวย์น แจ็คสัน (Wayne Hackson) ซึ่งได้รับ
การศึกษาจาก
Devid Lipscomb College,
The College of Evangelists, Stockton College, Sacramento Baptist College, and
Alabama Christian School of Religion, ผมได้อ่านหนังสือของท่านเมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว
โดยคุณ แอล ดี วิลลีส
ได้มอบให้แก่ผมเมื่อท่านมาทำการเทศนาที่จังหวัดอุดรฯ หลังจากที่ได้อ่านแล้วเห็นว่าหนังสือของท่านมีประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะนำมาสอนพี่น้องคนไทย ดังนั้นผมจึงได้ลงมือแปลและจัดพิมพ์โรเนียวใช้ใน โรงเรียนพระคริสตธรรมแก่นอีสาน แต่ว่าในตอนต้นมิได้รวบรวมเป็นรูปเล่มสวยงามเช่นนี้
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เกือบ 90 % ของเนื้อหาเป็นของคุณเวย์น
แจ็คสัน ดังนั้นผมจึงได้เขียนจดหมายขออนุญาตจากท่านอีกทีและให้เกียรติแก่ท่าน ท่านได้เขียนจดหมายตอบอนุญาตให้พิมพ์ได้อีก เมื่อวันที่
14 กุมภาพันธ์ 1981 ที่ผ่านมา
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้พี่น้องคนไทยจำนวนมากเป็นคริสเตียนที่สมบูรณ์และเข้าใจถึงคำอุปมาที่พระเยซูคริสต์เจ้าของเราได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้
วีรศักดิ์
วรฤทธิ์สกุล
2 มีนาคม 1981
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 1979 100 เล่ม
พิมพ์ครั้งที่สอง มีนาคม 1981 500 เล่ม
พิมพ์ครั้งที่สาม กันยายน 1987 500 เล่ม
พิมพ์ครั้งที่สี่ กรกฎาคม 2002 500 เล่ม
คำอุปมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
พระเยซูเป็นบรมอาจารย์ของทุกยุคทุกสมัย แม้แต่พวกศัตรูก็ต้องยอมรับถึงความสามารถในการสอนของพระองค์ว่าดีเยี่ยม เมื่อพระองค์สอนคำเทศนาบนภูเขาจบ “ประชาชนทั้งปวงก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสอนของพระองค์
เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสั่งสอนเขาดุจผู้มีอาชญา
หาเหมือนพวกอาลักษณ์ของเขาไม่” (มธ 7.28-29) และมาภายหลังเมื่อพวกเจ้าหน้าที่ที่ถูกต่อว่าจากพวกฟาริซายเพราะไม่ยอมจับพระองค์
ได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงไม่จับโดยพวกเขาพูดว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น”
(ยฮ 7.46) คำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นยอดเยี่ยมเพราะว่าเป็นคำสอนที่เป็นของพระองค์เองไม่ได้ลอกมาจากผู้อื่นเป็นความจริง มีอำนาจ
พระองค์เจ้าได้ใช้หลายวิธีการในการที่จะสำแดงความรู้อันเที่ยงแท้ ซึ่งนำความรอดมาให้แก่มนุษย์ที่หลงหาย
บางครั้งพระองค์ตรัสในวิธีการแบบเทศนาเช่นคำเทศนาบนภูเขา (มธ 5.7)
หรือคำเปรียบจากต้นมะเดื่อเทศ
ลก 13.6-9) คำสอนจำนวนมากที่ไม่เป็นแบบทางการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการอัศจรรย์
คนส่วนมากไม่เข้าใจว่าการอัศจรรย์ไม่ใช่จุดประสงค์ใหญ่
แต่เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่แสดงให้เห็นอำนาจของพระองค์ที่จะเป็นครูสอน ลองสังเกตดูตัวอย่างเช่นเมื่อพระองค์ทรงรักษาคนง่อย (มก 2.1-12) นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระบุตรของพระเจ้ามีอำนาจที่จะยกโทษบาปได้
และนี่เป็นการยืนยันให้แน่ใจว่าพระองค์ทรงสภาพของพระเจ้า
และก็มีคำสอนที่ตรงไปตรงมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พระองค์งัดข้อกับพวกผู้นำยิวในโยฮันบทที่ 8 ซึ่งเป็นตัวอย่างวิธีการสอนนี้ แต่วิธีการสอนที่พระองค์ชอบวิธีหนึ่งคือการสอนด้วยคำอุปมา
พระองค์ทรงเป็นบรมครูชั่วกาลอวสานในการสอนด้วยคำอุปมา
เพราะคำอุปมาของพระองค์นั้นมีชีวติชีวาน่าทึ่งและมีความหมายมากทีเดียว
ความหมายและวัตถุประสงค์ของคำอุปมา
คำอุปมาแปลมาจากภาษากรีกว่า พาราโบเล
(Parabole) หาพบคำนี้ได้ถึง
50 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่
แต่บางครั้งเรียกว่าคำเปรียบ (ลก 15.3) คำสุภาษิต (ลก 4.23) หรือ ภาษาภาพ Figure (ฮร 9.9, 11.19) แต่ส่วนใหญ่ใช้ว่า อุปมา
คำนี้เป็นคำผสมที่มาจากรากคำสองคำด้วยกันคือ
พารา (Para) แปลว่า ข้าง บาลโล (Ballo) แปลว่า
โยน เพราะฉะนั้นความหมายของมันคือ การโยนหรือวางบางสิ่งไว้ข้างๆ
เพื่อจะได้เปรียบเทียบกัน เมื่อดูการสั่งสอนของพระเยซูทั้งหมดแล้ว
เราก็พอสรุปได้ว่า คำอุปมาคือเรื่องบอกเล่า
(หรือเรื่องราว) ที่วางไว้ข้างความจริงบางอย่าง
เพื่อจะช่วยให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ที่พระองค์ต้องการให้เราเรียนรู้
คำอุปมาเป็นเรื่องที่มีอยู่ในประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์ ที่สามารถนำมาสอนบทเรียนได้ไม่ใช่เป็นชาดก (allegory)
วัตถุประสงค์ของคำอุปมาคือ
ประการที่หนึ่ง สำแดงความจริงทางด้านจิตวิญญาณให้แก่ผู้ที่ต้องการแสวงหาความจริงและน้ำพระทัยของพระเจ้า ตัวอย่างเช่นเรื่องบ่าวลูกหนี้ใจร้าย (มธ 18.23-35) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
ถ้าต้องการให้พระองค์ยกโทษจำเป็นจะต้องยกโทษให้ผู้อื่น
ประการที่สอง ปิดความจริงจากผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาความจริง อย่างเช่นพวกอาลักษณ์และฟาริซาย ที่พยายามจะบิดเบือนคำสอนของพระองค์ (ดู มธ 13.13-15)
ประการที่สาม บางครั้งเพื่อจะนำคนให้มาถึงความจริงเสียก่อนๆ
ที่จะทำให้เห็นว่ามันหมายถึงตัวเขาเอง
เช่นเรื่องผู้เช่าสวนองุ่น (มธ 21.33-45)
ประการที่สี่ ช่วยให้จำความจริงได้ง่ายขึ้น
ทุกคนจำเรื่องชาวซะมาเรียใจเมตตาหรือเรื่องบุตรน้อยได้ว่าเรื่องเหล่านี้หมายถึงอะไร
จุดประสงค์ในการใช้คำอุปมาของพระเยซู
1.
เพื่อคำพยากรณ์จะได้สำเร็จ (มธ 13.35)
ซึ่งมีอยู่ในหนังสือบทเพลงสรรเสริญ
78.2 เขียนโดยอาซาฟผู้สำเร็จฌาน (ผู้พยากรณ์)
2.
เพื่อสำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ
คือว่าการฟังคำอุปมานั้นจะไม่ทำให้เข้าใจจุดประสงค์อันแท้ทันที ผู้ที่สนใจจริงจะต้องติดตามถามคำอธิบายอีกทีหนึ่ง เช่นสาวก
(มธ 13.36, มก 5.10) เฉพาะผู้ที่แสวงหาเท่านั้นจึงจะพบ (มธ 7.7)
3.
ป้องกันการรุนแรง
ในตอนนั้นพวกลัทธิชาตินิยมกำลังต้องการใช้กำลังโค่นล้มต่อสู้พวกโรมัน
เพื่อจะกู้เอก-ราช
พระองค์ไม่ต้องการให้พวกนี้ใช้คำสอนของพระองค์เพื่อหนุนหลัง
หรือเอาคำสอนของพระองค์เกี่ยวกับแผ่นดินสวรรค์ไปใช้ในทางที่ผิด
4.
เพราะพวกศัตรูของพระองค์เริ่มต่อต้านพระองค์มากขึ้น
จึงใช้คำอุปมาเพื่อเขาจะจับผิดในคำสอนของพระองค์ไม่ได้
ขอบเขตการใช้คำอุปมา
คำอุปมาเป็นวิธีการนำความจริงที่ดีมาก แต่ก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ ได้ ดังนั้นวิธีการศึกษาที่ถูกต้อง เราต้องคิดถึงสามอย่างด้วยกัน คือ
1.
เหตุการณ์ที่นำมาถึงการสั่งสอนเรื่องนี้
2.
เรื่องในคำอุปมาเอง
3.
บทเรียนใหญ่ (รวมทั้งบทเรียนย่อยๆ) ซึ่งเราสามารถหาได้จากเรื่องราว ลองให้เรามาพิจารณาถึงทั้งสามอย่างนี้โดยละเอียด
ก่อนอื่นทั้งหมดนักเรียนต้องรู้ถึงเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์ต้องสอนคำอุปมานั้นๆ
และถ้าทำได้ต้องหาจุดประสงค์ของคำอุปมานั้นหรือว่า เรื่องนี้ส่อให้เห็นว่าบทเรียนอะไร
นี่จะช่วยแก้ไขการอธิบายเรื่องราวออกนอกลู่นอกทางไป ตัวอย่างเช่นคำอุปมาสามเรื่องในลูกาบทที่ 15 คือ แกะหาย เหรียญหาย
และบุตรน้อย
เหตุการณ์คือพวกที่สังคมรังเกียจเช่น
คนเก็บภาษีและคนชั่วทั้งหลายชอบมาหาพระองค์ เพื่อฟังคำสั่งสอนจากพระองค์
พวกอาลักษณ์และฟาริซายก็บ่นกล่าวติเตียนพระองค์ว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับพวกเขา (ลก 15.1-2) ดังนั้นพระเยซูจึงได้ตอบข้อกล่าวหาคำอุปมาสามเรื่องนี้
บ่อยครั้งที่จุดมุ่งหมายของคำอุปมาก็บอกชัดเช่น พระองค์ทรงทราบว่าช่วงระยะเวลาตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์กับการเสด็จกลับมานั้นจะนาน
เพื่อไม่ให้พวกเขาท้อใจ พระองค์จึงตรัสคำอุปมาเกี่ยวกับเรื่องให้เขาอธิษฐานกันอยู่เสมอไม่อ่อนระอาใจ
โดยใช้คำอุปมาเรื่องแม่ม่ายกับผู้พิพากษา (ลก
15.1-2) การที่จะศึกษาถึงสาเหตุที่นำมาถึงคำอุปมานี้สำคัญมากอย่ามองข้ามไป
สอง
เมื่อได้ศึกษาถึง พื้นฐานที่นำมาถึงการกล่าวคำอุปมานี้แล้ว นักเรียนควรจะอ่านคำอุปมาเองหลายๆ ครั้ง อ่านผ่านๆ หลายๆ
ครั้งจนพอจะเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีแล้ว
ก็ให้อ่านอย่างช้าๆ
และให้สังเกตและศึกษาไวยากรณ์ที่ใช้ในลักษณะต่างๆ กันจะช่วยให้การศึกษาสว่างขึ้นมาก ความพยายามมากจะให้เกิดผลมาก
สาม
ต้องรู้ว่าในคำอุปมานั้นมีบทเรียนที่เป็นแก่นกลางอยู่ คำอุปมาเรื่องชาวซะมาเรียใจเมตตา (ลก 10.30-37) ก็เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” ส่วนเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน (มธ 25.1-12) คือการเตือน “จงเฝ้าระวังอยู่” เพราะท่านไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านจะเสด็จมาเวลาใด
ตามธรรมดาคำอุปมามีบทเรียนใหญ่อยู่แต่เราก็สามารถหาบทเรียนย่อยๆ
ที่สอนใจได้ด้วยจากเรื่องเหล่านี้ แต่ต้องระวังให้ดีว่า
บทเรียนย่อยเหล่านี้ต้องไม่ขัดกับจุดประสงค์
และความจริงที่สอนพระคำของพระองค์จากข้อพระคัมภีร์ที่อื่น
ดังนั้นเพื่อป้องกันการตีความหมายผิดไป จึงขอแนะแนวทางอีกต่อไปดังนี้
แนวทางในการศึกษาคำอุปมา
1.
โดยการตรวจสอบที่มาของเนื้อหา หาว่าจุดประสงค์ใหญ่ของคำอุปมาคืออะไร
คำอุปมาที่ไม่ติดต่อกับสาเหตุของการมาจะทำให้คำอธิบายกลายเป็นเรื่อเดาที่ขาดเหตุผล
ตัวอย่างเช่นเมื่อทราบถึงสาเหตุของการใช้คำอุปมาในเรื่อง ชาวซะมาเรียใจเมตตา (ลก 10.30-37) แล้วการที่จะหาจุดประสงค์ของเรื่องก็ไม่น่าจะผิดพลาดได้ บางคนก็ยังดันทะลึ่งไปแปลความหมายว่า “ผู้เดินทางคือมนุษยชาติ
การเดินทางจากกรุงยะรูซาเล็มคือการหลงทางไปจากพระเจ้า ยะริโฮคือเครื่องหมายของการทดลอง
โจรคือมารซาตานและพรรคพวกของมัน ปุโรหิตคือการถวายเครื่องสักการบูชาตามพระบัญญัติเดิม
เลวีคือพระบัญญัติเดิมของโมเซ และชาวซะมาเรียคือพระผู้ช่วยให้รอด
การตีความหมายเช่นนี้เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อพระคำของพระองค์อย่างสิ้นเชิง
2.
ภาษาในเรื่องต้องไม่พยายามเค้นให้เกินจุดประสงค์ของมัน การเข้าใจถึงหลักนี้ จะทำให้ไม่เลยเถิดไป บางคนกล่าวว่า
“ให้มันทั้งสองจำเริญไปด้วยกัน” (ข้าวละมานกับข้าวดี) จึงถึงฤดูเกี่ยว (มธ 13.30) หมายความว่าคริสตจักรไม่ต้องมีวินัยที่จะตีสอนตักเตือนผู้ที่กระทำชั่ว
ทั้งๆ ที่รู้ว่า การตีความหมายอย่างนี้ขัดกับข้อพระคัมภีร์อื่นๆ (มธ 18.15-17, 1 กธ 5, 2 กธ 3.6) และการที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์โดยการหลอกลวงก็ได้โดยเอามาจากอุปมาเรื่องขุมทรัพย์ (มธ 13.44) และการที่จะส่งเสริมว่าการหลอกลวงนั้นดีจากคนต้นเรือนอธรรม (ลก 16.1) เหตุการณ์ตามเนื้อเรื่องจะเอามาใช้ส่งเสริมในทางที่ผิดไม่ได้
3.
หลักคำสอนที่ไม่ได้สอนอย่างชัดเจนจากที่อื่น จะเอาคำอุปมาเป็นหลักไม่ได้ เช่นเรื่องผู้เช่าสวนองุ่นชั่ว (มธ 21.33) สิ่งที่แสดงให้เห็นคือว่าพวกยิวปฏิเสธพระเยซูหลังจากที่ได้ส่งบ่าว (ผู้พยากรณ์) ไปเก็บส่วนแบ่ง เจ้าของสวน (พระเจ้า) ส่งบุตรของท่านไปเองและพูดว่า “เขาคงจะเคารพบุตรของเรา” จะเป็นการตีความหมายอย่างผิดๆ
ถ้าหากจะกล่าวข้อความนี้แสดงว่าพระยะโฮวาประหลาดใจที่พวกยิวปฏิเสธพระคริสต์
แต่นี้เป็นคำสอนของคนบางพวกว่าพระเจ้าได้พยายามที่จะตั้งอาณาจักรฝ่ายโลก แต่พวกยิวได้ทำแผนของพระองค์ล้มเหลวไป
หรือการที่จะตีความหมายว่า
กษัตริย์ในเรื่องบ่าวลูกหนี้ใจร้ายที่ได้บอกหนี้ทั้งหมดให้ลูกหนี้มาเป็นฐานคำสอนที่ว่า
ความรอดนั้นไม่มีเงื่อนไข การตีความหมายที่ผิดๆ
นี้เป็นการทำลายความหมายของคำอุปมาอย่างสิ้นเชิง
4.
บางทีคำอุปมามีไว้เพื่อจะใช้กับมนุษย์ตามที่เขาคิดว่าตนเป็นเช่นนั้น แต่แท้จริงไม่ใช่สภาพที่แท้จริงของเขาเอง พวกผู้นำยิวคิดเสมอว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม พระเยซูตรัสกระแทกกระทั้นว่า “จะมีความยินดีในสวรรค์เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่
มากกว่าคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจเสียใหม่” (ลก 15.7) พวกฟาริซายไม่เคยคิดว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องกลับใจใหม่ แต่ความจริงเขาจำต้องกลับใจใหม่เท่าๆ
กับคนอื่นหรือมากกว่าด้วยซ้ำไป
5.
คำอุปมาบางเรื่อง เป็นเรื่องการพยากรณ์ เช่นคำอุปมาเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักกาด (มธ 13.31) คือความเจริญของคริสตจักร คำอุปมาเรื่องผู้เช่าสวนองุ่นชั่ว (มธ 21.33) คือการพยากรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและเรื่องอวน (มธ 13.47) คือการประกาศถึงการแบ่งแยกในวันสิ้นโลก
Comments
Post a Comment