บทเรียนไปษณีย์ บทที่ 6


 

บทที่  6

พระคริสตธรรมคัมภีร์

โดย  วีรศักดิ์  วรฤทธิ์สกุล

               ทุกศาสนามีคัมภีร์  เพื่อเป็นมาตรฐานในการดำเนินชีวิตและพิธีกรรมในทางศาสนา  พุทธมีพระไตรปิฎก  อิสลามมีโกหร่าน  (อัลกุรอ่าน)  และคริสต์มีพระคริสตธรรมคัมภีร์  ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าไบเบิล  (จากภาษากรีก  บิบลิอะ)  แปลว่า หนังสือ  แต่ข้อแตกต่างคือ  คริสเตียนถือว่าหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เขียนขึ้น  พวกเขาไม่ได้เขียนขึ้นตามอำเภอใจของตนเอง  ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มีข้ออ้างว่า  เป็นพระคำของพระเจ้ามากกว่า  3,000  ครั้ง  ท่านทั้งหลายก็จงรู้ข้อนี้ก่อนคือว่า  คำพยากรณ์ทุกคำที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์แล้วพวกผู้พยากรณ์ไม่ได้คิดออกมาตามลำพังใจของตนเอง  ด้วยว่าคำพยากรณ์นั้นเมื่อก่อนไม่ได้เป็นมาตามน้ำใจมนุษย์  แต่ว่ามนุษย์ได้กล่าวคำซึ่งมาจากพระเจ้า  ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงดลใจให้กล่าวนั้น   (2  เปโตร  1.20-21) 

 

ใครเขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์

               ผู้เขียนต่าง ๆ  40  คนจากต่างอาชีพฐานะและสถานที่บอกว่า  พระเจ้าดลใจ  คำว่าดลใจหมายถึง  การระบายลมหายใจเข้าสู่บุคคลนั้นและเขาระบายลมนั้นออกมาเป็นข้อความ  สิ่งที่เขาเขียนนั้นไม่ใช่เป็นของเขา  เขาเพียงแต่เป็นเครื่องมือในการที่พระเจ้าใช้เพื่อจะสื่อความกับมนุษย์เท่านั้น  ตัวอย่าง  ถ้าผู้เขียนบทเรียนนี้  บันทึกข้อความลงในเครื่องอัดเสียงเสร็จแล้วให้เลขานุการณ์เถิดเทปที่อัดไว้  คำถามคือ  ข้อความที่เลขาฯ  พิมพ์ออกมานั้นเป็นความนึกคิดของผู้เขียนหรือเลขาฯ  คำตอบก็ชัดเป็นของผู้เขียนเช่นกัน  ศาสดาพยากรณ์และพวกสาวกที่เขียนพระคัมภีร์เป็นมาจาก พระเจ้า

คนที่เชื่อในพระเจ้า  บอกว่า  พระเจ้าดลใจ

               คนในโลกนี้มีแค่  2  ประเภทใหญ่ ๆ  คือ  คนดีและคนชั่ว  คำถามก็คือว่า  คนชั่วเขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์หรือ?  แน่นอนไม่มีใครที่จะเขียนหนังสือขึ้นมาประณามการกระทำชั่วของตนเอง  ดังนั้นคนที่จะเขียนไบเบิลได้คือ  คนดีเท่านั้น    แต่คนดีมีเพียงแค่  2  ประเภทเช่นกันคือ  คนดีที่เชื่อในพระเจ้ากับคนดีที่ไม่เชื่อในพระเจ้า  เป็นไปไม่ได้ที่คนดีที่ไม่เชื่อในพระเจ้า  จะเขียนเรื่องพระเจ้าเพราะตนไม่เชื่ออยู่แล้ว  ถ้าหากเขาเขียนเรื่องที่ตนไม่เชื่อและบอกว่าเป็นความจริง  คนนั้นเป็นคนดีไม่ได้  เพราะโกหก  เราจึงจำเป็นต้องสรุปว่า  คนดีที่เชื่อพระเจ้าเป็นผู้เขียนพระคริสต-ธรรมคัมภีร์

               การที่จะปฏิเสธไม่เชื่อว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้า  เพราะว่าคริสเตียนเขียนเป็นเหตุผลที่ใช้การไม่ได้  การที่ผู้เขียนจะบอกว่าผมไม่เชื่อพระไตรปิฎกเพราะคนพุทธเขียน  หรือไม่เชื่อโกหร่านเพราะอิสลามเขียน  เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีเหตุผล  เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าถูกหรือผิดอยู่ที่การพิสูจน์  ข้อความที่เขียนนั้นเป็นไปตามความจริงหรือไม่ต่างหาก  ไม่ใช่เพราะคริส-เตียนเขียนเลยไม่เชื่อ 

               คนที่เชื่อพระเจ้าบอกว่า  เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงเลิกพูดมุสาเสีย  (เอเฟโซ 4.25)  ทำไมพวกเขาสอนให้เลิกพูดเท็จ  แต่ให้พูดแต่ความจริง?  คนทั้งปวงที่พูดมุสาจะได้ส่วนมฤดกของตนที่ในบึงที่มีไฟและกำมะถันไหม้อยู่นั้น  นั่นแหละเป็นความตายที่สอง  (วิวรณ์  21.8)  คนพูดโกหกจะไปนรก  คนที่เชื่อพระเจ้าพูดความจริง  พระเจ้าดลใจให้พวกเขาเขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์

 

ความเป็นมาของพระคริสตธรรม

               ภาษาเขียนมีมาตั้งแต่  4,500  ปีก่อนคริสตกาล  พวกอียิปต์เป็นคนแรกที่มีการจารึกเรื่องราวต่าง ๆ  ต่อมาเป็นพวกบาบิโลน  ประมาณ  3,750  ปีก่อน  ค.ศ.  พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้เขียนขึ้นในสมัย  1,500  ปีก่อนพระเยซูคริสต์เจ้าบังเกิดโดยโมเซ  การจารึกในตอนแรก ๆ  ก็เป็นการบันทึกไว้บนหิน  ศิลา  (ดิน)  ไม้  หนัง  กระดาษพาไพรัส  (Papyrus)   เวลลัม  (Vellum  หนังลูกวัว)   พาร์ซมันท์  (Parchment  หนังแกะ, แพะ)  กระดาษจากใยพืชซึ่งเป็นที่นิยมและทันสมัยที่สุด  แต่ก็มีการจารึกบนไขเทียน  ทองแดง  ผ้าและแจกัน  วัสดุที่ใช้เขียนก็เป็นพวกของแหลม  ต่อมาก็ใช้หมึก

               พระคริสตธรรมได้จารึกเป็นภาษาเฮ็บราย  (สะเมติค- Senetic)  กรีกและอาราเม็ค  (Aramaic)  ทุกวันนี้พระคัมภีร์ฉบับจริงไม่มีแต่ยังมีสำเนาที่คัดลอกไว้โดยพวกอาลักษณ์  อยู่ถึง  4,500  ฉบับ  เก็บไว้ที่หอสมุดวาติกัน  กรุงโรม  ประเทศอิตาลี,  พิพิธภัณฑ์อังกฤษ,  หอสมุดแห่งชาติที่ปารีส  ฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยแคมบริคจ์  ประเทศอังกฤษ  และยังมีบันทึกข้อพระคัมภีร์สั้น ๆ   ซึ่งเรียกเลคชัน  (Lection)  อีกถึง  1,800  ชิ้นด้วยกัน  การที่มีฉบับสำเนามาก ๆ  ก็ดีกว่าการมีฉบับจริงเสียอีก  เพราะไม่มีใครอยากจะขโมยสำเนาหรือปลอมแปลงเพื่อไปลอกผู้อื่น  และการมีสำเนามาก ๆ  ทำให้สามารถเอามาเทียบดูกันได้ถึงความหมายที่ถูกต้องและแม่นยำ

 

การศึกษาพระคริสตธรรมคัมภีร์

               พระคัมภีร์แบ่งออกเป็น  2  ตอนใหญ่ ๆ  คือ  พันธสัญญาเดิม  ซึ่งเขียนขึ้นก่อนพระเยซูประสูติ  และพันธสัญญาใหม่  ซึ่งบันทึกหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว  พระคัมภีร์เดิมมีหนังสือเล่มเล็ก ๆ  39  เล่ม  32  คนเขียน  ใช้เวลา  1,500  ปี  พระคัมภีร์ใหม่ผู้เขียน  8  คน  มีหนังสือเล่มเล็ก ๆ  27  เล่ม  ใช้เวลาเขียน  100  ปี

 

การแบ่งพันธสัญญาเดิมมี  3  หมวด

1.    พระบัญญัติ  ประกอบด้วย  เยเนซิศ  เอ็กโซโด  เลวีติโก  อาฤธโม  พระบัญญัติ  (5  เล่ม)

2.    ผู้พยากรณ์  แบ่งออกเป็นผู้พยากรณ์ก่อน  และผู้พยากรณ์หลัง

        ก.    ผู้พยากรณ์ก่อน   ประกอบด้วย  ยะโฮซูอะ  ผู้วินิจฉัย  1 และ 2  ซามูเอล  1 และ 2 พงศาวดารกษัตริย์  (6  เล่ม)

ข.     ผู้พยากรณ์หลัง  ประกอบด้วย  ยะซายา  ยิระมะยา  ยะเอศเคล  และผู้พยากรณ์อีก  12  เล่ม  (15  เล่ม)

3.   เพลงสดุดี  (ข้อเขียน – Writing)  ประกอบด้วย  บทเพลงสรรเสริญ  สุภาษิต  โยบ  เพลงไพเราะ  รูธ  บทเพลงร้องทุกข์  ท่านผู้ประกาศ  เอศเธระ  ดานิเอล  เอษรา-นะเฮมยา   1 และ 2 โคร-นิกา  (13  เล่ม)

 

การแบ่งพันธสัญญาใหม่  มี  3  หมวด

1.        ประวัติศาสตร์  ประกอบด้วย  มัดธาย  มาระโก  ลูกา  โยฮันและกิจการ  (5  เล่ม)

2.        หลักคำสอน  แบ่งเป็นจดหมายเปาโล  และจดหมายทั่วไป

ก.     จดหมายเปาโล  ประกอบด้วย  โรม  1 และ 2  โกรินโธ  ฆะลาเตีย  เอเฟโซ  ฟิลิปปอย  โกโลซาย  1 และ 2 เธซะโลนิเก  1 และ 2 ติโมเธียว  ติโต  ฟิเลโมน  เฮ็บราย (14  เล่ม)

ข.     จดหมายทั่วไป  ประกอบด้วย  ยาโกโบ  1 และ 2 เปโตร  1,2 และ 3 โยฮัน  ยูดา (7 เล่ม)

3.        คำพยากรณ์  ประกอบด้วย  วิวรณ์  (1  เล่ม)

 

การแปลพระคัมภีร์ 

               พระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ  และขายได้มากที่สุดในโลก  เดิมทีเดียวพระคัมภีร์ไม่ได้แบ่งบทหรือข้อ คาร์ดินัล  ฮิวโก  แบ่งเป็นบทในปี  ค.ศ. 1250  และในปี ค.ศ.  1551  เซอร์  โรเบริทสตีเฟนส์  ได้แบ่งเป็นข้อ  พระคัมภีร์  ภาษาไทยได้พิมพ์ขึ้นเป็นฉบับสมบูรณ์  ประกอบด้วยพระคัมภีร์เดิมและใหม่ในปี  ค.ศ.  1896  แต่แท้จริงความพยายามแปลพระคัมภีร์นั้น  กลับไปถึงสมัยเมื่อ  200  กว่าปีมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา

               ผู้ที่เป็นคริสเตียนแล้ว  จะต้องศึกษาพระคัมภีร์เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ถ้าหากเราเชื่อแน่นอนว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นคำของพระเจ้า  เราย่อมเชื่อว่า  สิ่งที่พระเจ้าทรงตรัสผ่านพวกผู้พยากรณ์นั้น  เพื่อผลดีสำหรับชีวิตของเรา  ผู้ใดที่ประพฤติตามผู้นั้นเป็นคนฉลาด  จะมีความสุขและได้ชีวิตนิรันดร์

 

Comments

Popular posts from this blog

คำอุปมา บทที่ 8

คำอุปมา บทที่ 13

บทเรียนไปษณีย์ บทที่ 3